วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พาร์กินสัน โรคสั่นเกร็งในวัยชรา


พาร์กินสัน โรคสั่นเกร็งในวัยชรา

พาร์กินสัน โรคสั่นเกร็งในวัยชรา (ธรรมลีลา)
โดย : ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์

ร่างกายคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชรา ก็เป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ โรคที่เกิดได้แก่ โรคพาร์กินสัน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ที่จะส่งผลให้เกิดอาการสั่นเกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

สาเหตุสำคัญของการเกิด โรคพาร์กินสัน

1. ความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน (เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำที่อยู่บริเวณก้านสมอง โดยทำหน้าที่สำคัญในการสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว) มีจำนวนลดลง โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด

2. ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสรรโดปามีน โดยมากพบในผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ที่ต้องได้รับยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันการคลุ้มคลั่ง รวมถึงอาการอื่น ๆ ทางประสาท แต่ปัจจุบันยากลุ่มนี้ลดความนิยมในการใช้ลง แต่ปลอดภัยสูงกว่าและไม่มีผลต่อการเกิด โรคพาร์กินสัน

3. ยาลดความดันโลหิตสูง ในอดีตมียาลดความดันโลหิต ที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้สมองลดการสร้างสารโดปามีน แต่ในระยะหลัง ๆ ยาควบคุมความดันโลหิตส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์นอกระบบประสาทส่วนกลาง แต่มีผลทำให้ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย จึงไม่ส่งต่อสมองที่จะทำให้เกิด โรคพาร์กินสัน ต่อไป

4. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดปานีมีจำนวนน้อยหรือหมดไป

5. สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ สารแมงกานีสในโรงงานถ่านไฟฉาย พิษจากสารคาร์บอนมอนนอกไซด์

6. สมองขาดออกซิเจน ในกรณีที่จมน้ำ ถูกบีบคอ เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจ จากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น

7. ศีรษะถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือโรคเมาหมัดในนักมวย

8. การอักเสบของสมอง

9. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสันซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง สาเหตุมาจากธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา

10.ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้อาเจียนบางชนิด

การสังเกตอาการของ โรคพาร์กินสัน

โดยทั่วไปอาการจะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น อายุ ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา แต่โรคชนิดนี้จะมีอาการที่แสดงออกที่เห็นได้ชัด คือ

1. อาการสั่น พบว่าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่น โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง ๆ จะมีอาการมากเป็นพิเศษ (4-8 ครั้ง/วินาที) แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมก็จะมีอาการสั่นลดลง หรือหายไป โดยมากพบอาการสั่นที่มือและเท้า แต่บางครั้งอาจพบได้ที่คางหรือลิ้นก็ได้ แต่มักไม่พบที่ศีรษะ

2. อาการเกร็ง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขา และลำตัว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักแต่อย่างใด

3. เคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยจะขาดความกระฉับกระเฉงงุ่มง่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มต้นเคลื่อนไหว บางรายอาจหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุตามาได้ เช่น สะโพกหัก หัวเข่าแตก เป็นต้น

4. ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือ ก้าวเดินสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรก ๆ และจะก้าวยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนเร็วมากและหยุดไม่ได้ทันที โอกาสที่จะหกล้มหน้าคว่ำจึงมีสูง นอกจากนี้ยังเดินหลังค่อม ตัวงอ แขนไม่แกว่ง มือชิด แนบลำตัว หรือเดินแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์

5. การแสดงสีหน้า ใบหน้าของผู้ป่วยจะเฉยเมย ไม่มีอารมณ์เหมือนใส่หน้ากาก เวลาพูดมุมปากจะขยับเล็กน้อย

6. เสียงพูด ผู้ป่วยจะพูดเสียงเครือ ๆ เบา ไม่ชัด หากพูดนาน ๆ เสียงจะค่อย ๆ หายไปในลำคอ บางรายที่อาการไม่หนักเมื่อพูดน้ำเสียงจะราบเรียบ รัว และระดับเสียงจะอยู่ระดับเดียวกันตลอด นอกจากนี้น้ำลายยังออกมาและสออยู่ที่มุมปากตลอดเวลา

7. การเขียน ผู้ป่วยจะเขียนหนังสือลำบาก ตัวหนังสือจะค่อย ๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออก ส่วนปัญหาด้านสายตา ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลอกตาไปมาได้คล่องแคล่วอย่างปกติ เพราะลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุก

โดยส่วนมากผู้ป่วย โรคพาร์กินสัน จะมีอาการแทรกซ้อน คือ ท้องผูกเป็นประจำ ท้อแท้ซึมเศร้า ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย

การรักษา โรคพาร์กินสัน มี 3 วิธี

1. รักษาด้วยยา แม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัว หรือกลับมางอกทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ก็จะทำให้สารเคมีโดปามีนในสมองมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ สำหรับยาที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ยากลุ่ม LEVODOPA และยากลุ่ม DOPAMINE AGONIST เป็นหลัก (การใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์) ตามความเหมาะสม

2. ทำกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาก็คือ ให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติที่สุด สามารถเข้าสังคมได้อย่างดี มีความสุขทั้งกายและใจ ซึ่งมีหลักวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ

ฝึกการเดินให้ค่อย ๆ ก้าวขาแต่พอดีโดยเอาส้นเท้าลงเต็มฝ่าเท้า และแกว่งแขนไปด้วยขณะเดิน เพื่อช่วยในการทรงตัวดี นอกจากนี้ควรหมั่นจัดท่าทางในอิริยาบถต่าง ๆ ให้ถูกสุขลักษณะ รองเท้าที่ใช้ควรเป็นแบบส้นเตี้ย และพื้นต้องไม่ทำมาจากยาง หรือวัสดุที่เหนียวติดพื้นง่าย

เมื่อถึงเวลานอนไม่ควรให้นอนเตียงที่สูงเกินไป เวลาจะขึ้นเตียงต้องค่อย ๆ เอนตัวลงนอนตะแคงข้างโดยใช้ศอกยันก่อนยกเท้าขึ้นเตียง

ฝึกการพูด โดยญาติจะต้องให้ความเข้าอกเข้าใจค่อย ๆ ฝึกผู้ป่วย และควรทำในสถานที่ที่เงียบสงบ

3. การผ่าตัด โดยมากจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น อาการสั่นที่รุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวแขน ขา มากผิดปกติจากยา ปัจจุบันมีการใช้วิธีกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึก โดยผ่าตัดฝังไว้ในร่างกาย พบว่ามีผลดี แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก

ผู้ป่วย พาร์กินสัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้าง ในการพัฒนาฟื้นฟูด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจ ดังนั้นหากท่านมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคชนิดนี้ จึงควรรีบนำมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค อันจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป


ที่มา
ธรรมลีลา

การเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ

การเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ

คนเราทุกคนต้องพบกับคำว่า วัยสูงอายุหรือวัยชราไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากว่าเราไม่ตายเสียก่อนขณะเป็นหนุ่มเป็นสาว ด้วยเหตุนี้จึงควรได้มีการเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนจะเข้าสู่วัยสูงอายุเสียตั้งแต่แรก ก่อนที่จะถึงวันนั้นจริง ทั้งนี้เพื่อเราจะได้มีชีวิตในวัยที่สูงอายุอย่างมีความสุข แทนที่จะรอให้วันนั้นผ่านเข้ามาถึงโดยปราศจากการเตรียมเนื้อเตรียมตัว และหากทำใจไม่ได้เมื่อถึงวันนั้นก็อาจเป็นวันที่เราจะต้องโศกเศร้าไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ก็เป็นได้

การสร้างหลักประกันให้กับตนเอง
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือ การเข้าสู่วัยชราหรือวัยสูงอายุ หากเราไม่ตายเสียก่อนหน้านั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรเตรียมตัวรับสถานาการณ์ในวัยชราให้พร้อมก่อนจะถึงวันนั้น นั่นก็คือการสร้างหลักประกันให้กับตนเองก่อนจะเข้าสู่วัยสูงอายุ

1. ทรัพย์สินเงินทอง
คนที่รับราชการหรือทำงานบริษัทบางบริษัทที่มีเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ก็อาจจะไม่เดือดร้อนมากนัก เพราะเมื่อปลดเกษียณแล้วก็ยังได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ และอาจรวมถึงสวัสดิการอื่นๆ ด้วย เช่น ค่ารักษาพยาบาลเป็นต้น
แต่ถึงแม้จะได้รับบำเหน็จบำนาญเป็นเงินก้อน เงินจำนวนดังกล่าวก็อาจหมดไปได้ หรือกรณีที่รับบำนาญ เงินอาจจะน้อยกว่าจำนวนที่เคยได้รับ ก็อาจจะไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่าย ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสะสมเงินไว้ก้อนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในวัยที่สูงอายุแล้ว
ส่วนคนที่ไม่มีเงินบำเหน็จบำนาญเมื่ออกจากราชการแล้วก็ยิ่งนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสะสมเงินไว้ใช้เมื่อเข้าสู่วัยชรา เพื่อว่าชีวิตบั้นปลายจะได้มีความสุขกับเขาบ้าง
การตระเตรียมเงินทองไว้ใช้จ่ายในวัยสูงอายุควรจะได้จัดทำล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ อย่างน้อยก็ควรจะเป็น 10 ปีก่อนเกษียณอายุ และควรจะมีกำหนดหรืเป้าหมายแน่นอนว่าจะต้องเก็บสะสมเดือนละเท่าใด เพื่อเมื่อปลดเกษียณแล้วจะมีเงินพอใช้จ่ายกับชีวิตบั้นปลายของตน
อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายประจำเดือนในปัจจุบันก็เป็นปัญหาค่อนข้างมาก การที่จะเก็บเงินสะสมไว้เมื่ออายุมากแล้วยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ และมีวิธีเดียวที่ทำได้ก็คือการประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งโดยแบ่งเงินรายได้ออกเป็นส่วนๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง และรีบเอาส่วนที่จะเก็บสะสมฝากธนาคารไว้ทันทีเมื่อรับเงินเดือน อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะขืนเก็บไว้กับตัว เงินดังกล่าวจะหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีโอกาสฝากธนาคารได้เลย
ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องมีความมุ่งมั่นในการทำอย่างจริงจัง มิฉะนั้นการสะสมเงินทองในวัยก่อนเกษียณจะทำไม่ได้เลย

2.ที่อยู่อาศัย
ที่อยู่อาศัยก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในวัยสูงอายุ มีหลายคนพูดว่าเกษียณแล้วยังไม่มีที่ซุกหัวนอน บางคนต้องเร่ร่อนอาศัยคนอื่นเขาอยู่ บางคนถึงกับต้องไปนอนศาลาวัดหรือข้างถนน สภาพดังกล่าวนับว่าเป็นที่อนาถใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ทำงานอยู่และมีรายได้ ควรจะได้ขวนขวายหาที่อยู่อาศัยของตนเองให้ได้ แม้จะเล็กขนาดไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้เป็นบ้านของเราเองก็พอใจที่สุดแล้ว
ปัจจุบันนี้การหาบ้านอยู่อาศัยอาจจะใช้วิธีซื้อผ่อนส่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นก้อน หากไม่สามารถสร้างด้วยตนเองได้ก็ควรจะได้ใช้วิธีเช่าซื้อ เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยเมื่อเกษียณอายุแล้ว

3. การรักษาสุขภาพของตนเอง
หากต้องการอายุยืนและมีความสุขในวัยสูงอายุ ทุกคนควรจะได้เตรียมร่างกายไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่นเดียวกับการเตรียมทรัพย์สินเงินทองหรือที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เพื่อเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วจะได้มีความสุข ด้วยการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บออดๆ แอดๆ อย่างที่เป็นในบางคน
การพยายามรักษาสุขภาพของตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในช่วงก่อนเกษียณอายุ เพื่อร่างกายจะได้แข็งแรง และมีสุขภาพสมบูรณ์ และยังเป็นผลดีต่อเนื่องมาจนถึงวัยสูงอายุของผู้นั้นด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตในวัยสูงอายุ เป็นชีวิตที่มีความสุขสามารถไปไหนมาไหนได้ หรือสามารถทำอะไรด้วยตัวของตัวเองได้ รวมทั้งสามารถที่จะทำงานต่อหลังจากปลดเกษียณแล้วด้วย
การออกกำลังกายในวัยก่อนเกษียณ จึงนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากท่านต้องการเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และปลอดจากโรคภัยมาเบียดเบียนเมื่อปลดเกษียณแล้ว นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญทำให้มีอายุยืน ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของทุกคนด้วย

4. การหาตัวอย่างคนชรามาเป็นแบอย่าง
หลายคนมักจะถามตัวเองว่า เมื่อปลดเกษียณแล้วจะจัดการกับตัวเองอย่างไรดี จะทำงานต่อหรืออยู่กับบ้านเฉยๆ หรือจะทำอะไรดี และจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตในบั้นปลายถึงจะมีความสุข
วิธีง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวก็คือให้มองดูรอบๆ ตัวเราเอง แล้วพยายามหาคนชราคนใดคนหนึ่งที่เขามีชีวิตอย่างมีความสุขมาเป็นตัวอย่างของเรา เพื่อว่าเราจะได้มีความสุขอย่างเขาบ้าง พยายามศึกษาหารายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของตัวเขาว่าเขาทำตัวอย่างไร ทำใจอย่างไร เขาจึงมีความสุขอย่างนั้น เชื่อแน่เหลือเกินการขอคำแนะนำจากเขาเป็นการไม่ยาก เพราะคนที่มีอายุแล้วมักจะชอบช่วยเหลือคนอื่นเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว หากท่านไปขอคำแนะนำจากเขา เขาก็คงจะบอกท่านได้ว่า ท่านจะต้องทำตัวอย่างไรจึงจะได้มีความสุขเช่นเดียวกับเขา
การหาตัวอย่างจากคนที่สูงอายุแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องหาจากคนๆ เดียว เพราะมีวิธีการปฏิบัติมีหลายอย่างหลายวิธี บางอย่างอาจเหมาะสมกับตัวเรา บางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับตัวเรา เราจึงควรดูตัวอย่างจากหลายๆคน แล้วเลือกข้อที่ดีที่เหมาะสมกับตัวเรามาปฏิบัติ ก็จะช่วยให้เรามีวิธีที่จะเลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมกับชีวิตของเรา

5. การหัดทำใจแต่ต้นมือ
เมื่อเราทราบว่า หากเรายังมีชีวิตอยู่ไม่วันใดวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นคนแก่หรือคนชรา ทำไมเราจึงไม่เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึงเราจะได้ยอมรับมันด้วยความเต็มใจและมีความสุข ไม่ใช่ปล่อยให้มันมาถึงแล้วต้อนรับมันด้วยความทุกข์ ว่าเราจะทำอย่างไรดีกับชีวิตในวัยชราของเรา
คนเราเมื่อยังทำงาน มีอำนาจหน้าที่อยู่ คนเขาก็นับหน้าถือตา คนเขาก็ให้เกียรติ คนเขาก็ล้อมหน้าล้อมหลัง ทุกคนอยากเข้ามาหา ทุกคนอยากพบ แม่เมื่อปลดเกษียณแล้วก็ไม่มีใครอยากมาหา เพราะเราหมดอำนาจแล้ว เราไม่สามารถทำอะไรหรือช่วยเหลือเขาได้ เกียรติยศ ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตาก็จะหมดไป ยิ่งเวลาเราไปงานไปการที่มีคนที่เขาขึ้นมาแทนตำแหน่งเรา ซึ่งมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง มีคนให้เกียรติ ส่วนเรานั่งอยู่คนเดียวไม่มีคนเหลียวแล อย่างมากก็ยกมือไว้เป็นพิธีแล้วเขาก็จากไป แม้จะมานั่งคุยด้วยเขาก็ไม่อยากมา เพราะกลัวนายใหม่จะเขม่นเอาว่าเป็นพวกนายเก่า หรือเป็นเพราะเกลียดขี้หน้าเต็มทน สมัยเป็นนายก็เป็นได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะต้องเตรียมใจไว้ก่อนจะถูกปลดเกษียณ ว่าเราจะต้องพบกับสิ่งเหล่านั้น และไม่ใช่แต่เราเท่านั้น และไม่ใช่แต่เราเท่านั้น คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน นับเป็นของธรรมดา มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เพื่อนฝูงก็นับวันจะหายไปวันละคนสองคน ผลที่สุดอาจต้องอยู่คนเดียว
หัดทำใจ หัดปลง หัดมองเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นของธรรมดาโลก และหัดทำใจวางเฉยไม่รู้หนาวไม่รู้ร้อนเสียบ้างตั้งแต่ต้น เราก็จะได้มีโอกาสมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต โดยไม่ต้องไปห่วงไปคิด ไม่กังวลว่าคนอื่นเขาจะรักเราไหม คนอื่นเขาจะให้เกียรติเราไหม เขาจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของเขา หากเผอิญเขาทำอะไรให้เราพิเศษก็ให้ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต หากเขาไม่ทำอะไรให้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเฉยๆ ธรรมดาๆ เพราะมันไม่ได้ทำให้เราขาดทุนตรงไหน แต่คนที่เกี่ยวข้องอาจขาดทุนโดยไม่รู้ตัวก็ได้

6. การหัดทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ
คนมักจะพูดว่า "เมื่อเรายิ้มกับโลก โลกก็จะยิ้มกับเรา" ด้วยเหตุนี้เราควรยิ้มกับโลกเสียตั้งแต่บัดนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เกษียณก่อนแล้วจึงค่อยยิ้ม เพราะถึงตอนนั้นอาจยิ้มไออกแล้วก็ได้
การทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ นอกจากจะทำให้เราพ้นทุกข์และมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้เรามีอายุยืนด้วย คนหลายคนพยายามเสาะหายาอายุวัฒนะ แต่หารู้ไม่ว่ายาอายุวัฒนะที่ดีที่สุดและใกล้ตัวที่สุด ตลอดจนไม่ต้องเสียเงินซื้อก็คือ "การยิ้ม" การยิ้มทำให้จิตใจเบิกบาน ทำให้จิตใจร่าเริง ทำให้จิตใจมีความสุข และทำให้อายุยืน
ด้วยตุนี้หากท่านยังไม่ทราบว่าควรจะทำการจัดการกับชีวิตอย่างไรดีเมื่อเกษียณอายุแล้ว ก็ใคร่ขอแนะทำว่าหัดทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบานเสมอตั้งแต่บัดนี้ เมื่อเกษียณแล้วท่านก็จะมีชีวิตที่มีความสุข

7. การหัดใช้ชีวิตอย่างอิสระ
การหัดใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยไม่หวังพึ่งใครตั้งแต่แรกก่อนจะเข้าสู่วัยสูงอายุ นับว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้ชีวิตหลังเกษียณอายุแล้วมีความสุขได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อปลดเกษียณอายุแล้วเราจะต้องอยู่ด้วยตัวของเราเอง และเราจะต้องทำอะไรด้วยตัวของเราเอง เราไม่อาจหวังให้คนโน้นคนนี้ช่วยเราได้
ด้วยเหตุนี้เราต้องพยายามฝึกหัดใช้ชีวิตของตนเองในระยะก่อนเกษียณอายุ ทั้งนี้เพื่อเมื่อเราปลดเกษียณแล้วเราจะได้สามารถช่วยเหลือตัวเราเองได้โดยไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันเราก็จะได้ไม่คิดมาก และไม่เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่มีคนมาช่วยเราอย่างแต่ก่อน ความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจก็จะไม่เกิดกับเรา เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็รู้จักวิธีจัดการแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ไม่ต้องคอยพึ่งพาอาศัยใคร หากเขาให้พึ่งก็ดีไป หากเขาไม่ให้พึ่งเราก็จะมีแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้าหากเราทำเองได้ เราก็จะได้มีความภาคภูมใจในตัวของเราเองว่า เราก็สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปง้อพึ่งคนอื่น แม้แต่ลูกหลายของตนก็ตาม หากเราสามารถทำเองได้ เราก็ไม่ควรคิดพึ่งพาเขา ถ้าดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็เจ็บใจเปล่าๆ

8. การหางานอดิเรกทำ
วัยหลังปลดเกษียณแล้วจะมีเวลาว่างมาก เราะไม่ทำงานอย่างแต่ก่อน จึงควรหางานอดิเรกไว้แต่ต้นมือว่าเราจะทำอะไรหลังจากปลดเกษียณอายุแล้ว ด้วยการเริ่มต้นเสียตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุ ทั้งนี้เมื่อเกษียณอายุแล้วจะได้ทำต่อเนื่องได้ทันที
บางคนอาจจะหัดเล่นดนตรี บางคนอาจจะสะสมแสตมป์และอื่นๆ ทั้งนี้สุดแล้วแต่จะชอบ ว่าจะเลือกทำอะไรที่เราต้องการและเหมาะสมกับตัวเอง
การทำงานอดิเรกจะช่วยฆ่าเวลาแต่ละวันให้ผ่านไปอย่างมีความสุข แทนที่จะนั่งดูเข็มนาฬิกาทีละนาทีๆ ดูมันช่างเชื่องช้าและทรมานเสียจริงๆ การหางานอดิเกรทำหลังจากปลดเกษียณ จึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการหาความสุขเมื่อปลดเกษียณแล้ว

9. การเข้าร่วมกิจกรรมของสังคม
การเข้าร่วมกิจกรรมของสังคมตั้งแต่ก่อนปลดเกษียณ จะช่วยทำให้ชีวิตได้มีความสุขอย่างดีในวัยปลดเกษียณแล้ว ไม่ควรรอให้ปลดเกษียณแล้วจึงเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เพราะตอนนั้นอาจจะสายเกินไปแล้ว เพราะทุกคนต้องการคนที่แข็งแรง คนที่มีพลังในการทำงานของสังคม แต่เมื่อใดเขาเห็นว่าเราเป็นคนแก่แล้ว ความสำคัญของตัวเราก็จะลดน้อยลง และโอกาสที่จะร่วมงานสังคมก็จะน้อยลงไปด้วย
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมต่างๆ นับว่าเป็นสิ่งที่ควรจะได้จัดทำเมื่ออยู่ในวัยทำงาน เพื่อว่าเมื่อปลดเกษียณแล้วเราจะได้มีโอกาสร่วมงานกับเขา และจะทำให้เรารู้สึกว่า แม้จะเป็นคนแก่ก็ยังเป็นคนแก่ที่มีค่าต่อสังคม ไม่ใช่คนแก่ที่นั่งรอคอยวันตายอย่างคนบางคน

10. การเข้าช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์
การมีโอกาสเข้าช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์บ้าง จะช่วยทำให้เรามีความรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น
การเข้าช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์ก็มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคมเท่านั้น เพราะในวัยสูงอายุเงินยังเป็นของจำเป็นสำหรับเรา นอกจากเราคิดว่าเรามีพอจะแบ่งไปช่วยเหลือเขาบ้างก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น แต่เราอาจจะช่วยเหลือด้านความคิด ด้านการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่เรายังสามารถทำได้ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลืองานสังคมสงเคราะห์เช่นเดียวกัน

11. การเข้าวัดเข้าวา
สิ่งสุดท้ายที่คนสูงอายุควรแสวงหาก็คือ ความสงบของจิตใจในบั้นปลายชีวิต ด้วยการเข้าวัดเข้าวาศึกษาพระธรรมคำสอนต่างๆ ของศาสนาที่ตนนับถือและเลื่อมใส เมื่อก่อนเราอาจไม่มีเวลาศึกษามากนัก เพราะต้องใช้เวลาทำมาหากิน แต่เมื่อเกษียณอายุแล้วเรามีเวลาว่างมากขึ้น โอกาสที่จะศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้งก็มีมากขึ้น เราก็จะมีชีวิตในบั้นปลายที่มีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้เมื่อเรามีความสุขแล้ว หากเราจะนำข้อธรรมะหรือคำสอนนั้นไปอบรมสั่งสอนชี้แจงให้คนอื่นทำบ้าง เราก็จะมีความสุขยิ่งขึ้นที่เราได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นให้มีความสุขอย่างเรา กุศลกรรมดีดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้เรามีความสุขยิ่งขึ้น
การเข้าวัดเข้าว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวตายอย่างมีความสุข เพราะเมื่อเข้าวัดแล้วจิตใจสงบ สามารถปลงในสิ่งต่างๆ ได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ดังนั้นก่อนตายก็ควรเตรียมกายเตรียมใจไว้ให้ดี เมื่อตายแล้วจะได้ตายอย่างมีความสุข

ที่มา
http://www.rspg.org/elder/oldhappy6.htm

ใส่ใจวัยทอง

มนุษย์ทุกคนย่อมมีช่วงอายุขัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวัยทารก สู่วัยเด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยกลางคน และวัยสูงอายุ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เช่น วัยเด็กจะมีการพัฒนาของร่างกายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาการทางด้านจิตใจที่มีความอยากรู้อยากเห็น จนมาถึงในช่วงวัยรุ่นจะมีการพัฒนาร่างกายเพื่อเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่และยังมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ คือ อยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ มาความสนใจในเรื่องเพศตรงข้ามมากขึ้น เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่มากนักและทางด้านจิตใจก็มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อใช้ประกอบการงาน และยังเป็นช่วงที่ต้องการสร้างรากฐานให้แก่ชีวิต เมื่อถึงวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมาก เนื่องจากการใช้ชีวิตมาอย่างยาวนานทำให้อวัยวะบางอย่างมีการเสื่อมลง นอกจากด้านร่างกายแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่อาจมี เหตุผลมาจากการปรับตัวของฮอร์โมน บางทีเราอาจเรียกผู้สูงอายุในช่วงการปรับฮอร์โมนในร่างกายว่า "วัยทอง” โดยเฉพาะเพศหญิงซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าเพศชาย อาจทำให้คนวัยทองนั้นมีอารมณ์ที่ต่างออกไป บางทีมีจิตใจที่สงบขึ้นแต่บางคนอาจจะมีความน้อยใจและอารมณ์หงุดหงิดง่าย

วัยทองของสตรี นั้นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งโดยเฉลี่ย จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุประมาณ 48-50 ปี เป็นผลมาจากการที่รังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ ทำให้มีระดูถี่ขึ้นจากช่วงห่าง 28 วัน เป็นประมาณ21 วัน หรือมีระดูไม่สม่ำเสมอระยะเวลา ระหว่างรอบระดูจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไม่มีระดูอย่างถาวร เราเรียกช่วงนี้ว่าวัยใกล้หมดระดู (Perimenopause) หรือวัยเปลี่ยน (Climacteric)จะไม่มีการผลิตไข่หรือผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอีกต่อไป ผู้หญิงวัยทองจึงหมดฮอร์โมนที่จะผลิตจากรังไข่ คือฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนและการหมด ฮอร์โมนเพศหญิงนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกเป็น เวลา 4-5 ปี ก่อนที่จะหมดไปเลย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยหมดระดูสามารถแบ่งออกเป็น 2ระยะ ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดูช่วงต้น เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่
1. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Hot Flashes) มักมีอาการร้อนซู่ ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก จะเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3-5 นาที แล้วก็หายไป บางคนพบว่ามีเหงื่อออกมามากร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับตามมา
2. อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้งทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
3. อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
4. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจในตัวเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ
5. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง
6. การเปลี่ยนแปลงทางกล้ามเนื้อและข้อ พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง ปวดตามข้อ

การปลี่ยนแปลงในระยะยาว
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดความเสื่อมถอยของร่างกาย ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป ประมาณ 1ใน 3จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว โอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว
2. การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ในวัยหมดระดูจะมีไขมันโครเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

สำหรับผู้หญิงวัยทองบางคนอาจต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายเคยมี ซึ่งฮอร์โมนทดแทนจะแบ่งดังนี้
1.ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู แบ่งตามลักษณะการใช้ออกเป็นฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นของวัยหมดระดู
2.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลุก
3.ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจนแต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงของวัยหมดระดูได้ดี


วัยทองของบุรุษ
จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจาก การควบคุมฮอร์โมนเพศ จะเกิดขึ้นที่สมองที่เรียกว่า ต่อมไฮโปธารามัส (Hyppothalamus) เมื่อต่อมดังกล่าวตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนเพศมีไม่เพียงพอ ก็จะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังต่อมใต้สมองโดยอาศัยฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า (GnRH) เมื่อต่อมใต้สมองรับข้อมูลว่าฮอร์โมนเพศชายต่ำจากระดับของฮอร์โมน (GnRH) ต่อมใต้สมองก็จะปล่อยฮอร์โมนเหนี่ยวนำการตกไข่ (LH) และฮอร์โมน (FSH) ออกมาทุกๆ หนึ่งชั่วโมง ฮอร์โมน (FSH)จะกระตุ้นเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า Laydig Cells ในลูกอัณฑะเพื่อผลิตฮอร์โมนเพศชายให้เพิ่มขึ้นเมื่อมีระดับของฮอร์โมนเพศชายเพียงพอ ต่อมไฮโปรธารามัสจะหยุดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน GnRH ที่ไปยังต่อมใต้สมองกระบวนการนี้เรียกว่า ระบบส่งข้อมูลย้อนกลับ

วัยทองในผุ้ชายไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดว่าจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุเท่าไหร่ แต่จะเกิดเมื่อระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลง ซึ่งสภาพนี้เรียกว่า ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Hypogodism) มี 2 ระดับ คือ

1. ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำระดับปฐมภูมิ เกิดเมื่อLaydig Cells ในอัณฑะมีการสูญเสียความสามารถในการหลั่งฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่ต้น หรือเมื่อยังหนุ่ม
2. ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำระดับทุติยภูมิ เกิดเมื่อข้อมูลจากสมองไปต่อมใต้สมองไม่เพียงพอ หรือไม่มีความถี่พอที่จะกระตุ้น Laydig Cells ให้หลั่งฮอร์โมนเพศชาย

ถ้าระดับของฮอร์โมนเพศชายปกติแต่ยังประสบภาวะวัยทองสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยต้องมีอัตราส่วนของฮอร์โมนเพศชายต่อฮอร์โมนเพศหญิง 50:1 อัตราส่วน ดังกล่าวลดลงเป็น 20:1 หรือต่ำลงถึง 8:1 ซึ่งหมายความว่าฮอร์โมนเพศหญิงในผู้ชายจะสูงขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมน เพศหญิงในร่างกายของผู้หญิงจะป้องกันโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุน แต่สำหรับเพศชายฮอร์โมนเพศหญิงที่มี มากเกินไปในเพศชายจะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในผู้ชายให้มากขึ้น จำนวนที่เพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะมีผลกระทบสัมพัทธ์ต่อระดับฮอร์โมนเพศชายที่ปกติ สาเหตุที่ฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นในเพศชายเพราะ
1.ความอ้วน โรคอ้วนมีผลโดยตรงกับฮอร์โมนเพศหญิงที่มีมากเกินไปในอนุภาคของไขมันจะมี Aromatase (เอ็นไซนม์ที่จะเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายในร่างกายให้เป็นเพศหญิง) เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนอนุภาค
ไขมันจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำในทุกวัย เป็นสาเหตุให้เพิ่มการแปลสภาพของฮอร์โมนเพศชายไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
2.การขาดธาตุสังกะสี ที่เป็นตัวหยุดยั้งระดับ Aromatase ในร่างกาย ถ้าระดับสังกะสีมีไม่เพียงพอระดับของ Aromatase ก็จะสูงขึ้นธาตุสังกะสียังจำเป็นสำหรับระบบการทำงานปกติของต่อมใต้สมอง ถ้าไม่มีธาตุสังกะสีต่อมใต้สมอง
จะไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนที่เหนี่ยวนำการตกไข่และฮอร์โมนที่ทำให้ตกไข่ได้ ธาตุสังกะสีมีความสำคัญสำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศชาย ในขณะเดียวกันฮอร์โมนเพศชายก็จำเป็นต่อการรักษาระดับธาตุสังกะสีในเนื้อเยื่อร่างกายเช่นกัน
3.ระบบการทำงานของตับผิดปกติ หนึ่งในระบบการทำงานของตับ คือ ช่วยขับสารเคมี ฮอร์โมน ยา และของเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของร่างกาย ปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น การดื่มสุราจะช่วยลดการทำงานของตับ อายุที่มากขึ้นก็จะทำให้การทำงานของตับลดลงด้วย
4.ฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย ฮอร์โมนเพศชายสามารถอยู่อย่างอิสระหรือรวมกันกับโปรตีนในร่างกาย ฮอร์โมนเพศชายที่จับอยู่กับโปรตีน ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับฮอร์โมนที่ไม่จับโปรตีนในร่างกาย เรียกว่า ฮอร์โมนอิสระ ระดับปกติของฮอร์โมนเพศชายอยู่ระหว่าง 350.10000ng/dl จากระดับปกติร้อยละ 97.98 จะเป็นฮอร์โมนไม่อิสระจำนวนโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนในเลือดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ SHBG จะจับกับฮอร์โมนเพศชายทำให้ไม่สามารถไปออกฤทธิ์ส่งต่อให้ร่างกายได้ ทำให้ฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทในการสังเคราะห์โปรตีนส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานของร่างกาย

วิธีการปฏิบัติตนเมื่อเข้าสู่วัยทองทั้งชายและหญิง
1)ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
2)รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
3)ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4)ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
5)ปรึกษาแพทย์และใช้ฮอร์โมนทดแทนในกรณีที่จำเป็น

คนวัยทองจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากและยังรวมถึงสภาพจิตใจด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นความวิตกกังวลทำให้เกิดอาการเครียด เช่น ผู้หญิงบางคนอาจเกิดอาการวิตกกังวลในเรื่องของการเข้าสู่วัยทอง คนรอบข้างควรให้กำลังใจและเอาใจใส่ถึงอาการต่างๆ พร้อมทั้งให้ความเข้าใจในภาวะความเครียดที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีของผู้ชายก็ควรให้กำลังใจเพราะวัยทองในชายจะมีผลกระทบกับเรื่องทางเพศที่มีความเสื่อมถอยลง ทำให้ความมั่นใจในเพศชายลดน้อยลง อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ จึงต้องช่วยกันให้ความเข้าใจพร้อมทั้งให้คำปรึกษาในยามที่เกิดภาวะนั้นๆ เพื่อให้ผู้อยู่ในภาวะวัยทองสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และผ่านพ้นช่วงวัยทองได้อย่างปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ


ที่มา
http://www.thaipaipan.net/application3/nuke/modules.php?name=twdotnet&file=columns&op=detail&cid=403&row=51

ออกกำลังกายอย่างไร เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง

ออกกำลังกายอย่างไร เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง

วัยทอง ถือเป็นช่วงวัยแห่งความสำเร็จของชีวิต เป็นช่วงที่สตรีมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีฐานะมั่นคง มีครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่วัยทอง ก็เป็นช่วงวัยแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการลดระดับของฮอร์โมนในร่างกายสตรี ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสรีระร่างกาย อารมณ์ และสภาพจิตใจ เพื่อให้สตรียังคงดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีคุณภาพ และมีความสุข การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงถือเป็นเรื่องควรปฏิบัติ

ท่าทางการออกกำลังกาย สำหรับสตรี (ใกล้) วัยทอง เพื่อปฏิบัติประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

1. บริหารไหล่ ยืนตรง หมุนหัวไหล่ ข้อศอก และแขน ท่าละ 20 ครั้ง

2. บริหารลำตัว ไหล่ และขา ยืนตรงเหยียดแขนขึ้นเหนือศรีษะแล้วโน้มตัวลงงอเข่าเล็กน้อย พยายามให้ปลายนิ้วแตะพื้น ทำติดต่อกัน 20 ครั้ง

3. บริหารลำตัวและหลัง ยืนตรงแขนทั้งสองข้างแนบลำตัว เอียงไปด้านข้างของลำตัวจนสุดตัว พยายามให้ปลายนิ้วแตะเข่า สลับซ้ายและขวารวมแล้ว 20 ครั้ง

4. บริหารเองและต้นขา ยืนหันข้างจับพนักเก้าอี้ แกว่งขาคล้ายลูกตุ้ม 20 ครั้ง แล้วสลับไปทำอีกข้างหนึ่ง

5. บริหารน่อง ก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า ย่อเข่าหน้า เหยียดขาหลังให้ตึง พร้อมทั้งทิ้งน้ำหนักตัวไปยังผนังห้อง โดยใช้ฝ่ามือสองข้างยันไว้ ทำสลับข้างรวมแล้ว 20 ครั้ง

6. บริหารสะโพก และต้นขา นั่งเหยียดขาโน้มตัวไปข้างหน้า พยายามยืดแขนให้ปลายนิ้วแตะข้อเท้า ทำติดต่อกัน 20 ครั้ง

7. บริหารช่องคลอด ขมิบกล้ามเนื้อช่องคลอดค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วผ่อน 5 วินาที ขมิบให้ได้อย่างน้อยวันละ 200 ครั้ง


นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่นการเดินเร็ว ๆ 45 นาที หรือการวิ่งเหยาะ ๆ การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน อย่างน้อย 15-30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ และปอด จึงควรปฏิบัติเป็นประจำ สำหรับสตรีที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ถึงท่าทาง และวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย

•ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน
•ช่วยควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด
•ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่หัวใจ และปอด

อยู่อย่างไรให้มีคุณภาพ และสีสุข

•พบแพทย์เพื่อตรวจภายใน และเต้านมทุกปี
•หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
•รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยม
•ออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง
•เริ่มรับประทานฮอร์โมนทดแทนเมื่อมีข้อบ่งชี้


ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.bangkokhealth.com/
index.php/2009-01-19-04-21-40/1520-2009-01-22-08-31-16