วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตามไปดูผู้สูงอายุไทย วันนี้ท่านป่วยด้วยโรคอะไรกัน

มส.ผส.เผยผู้สูงอายุไทยสุขภาพไม่ดี ส่วนใหญ่มีปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน 54.9 % มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ชี้ 3 โรคยอดฮิตของคนแก่ หัวใจและหลอดเลือด –ต่อมไร้ท่อ-ระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ระบุคนแก่ 45.7% เข้ารับบริการโรงพยาบาลบัตรทอง แต่มี 15% เท่านั้น ที่เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพ แนะวิธีดูแลตัวเอง กินอาหารมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอยุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เรื่องการประเมินสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ในปี 2552-2553 จำนวน 9,195 ราย พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 12.5 ประเมินว่าตัวเองสุขภาพไม่ดีหรือไม่ดีมาก ร้อยละ 48.4 ประเมินว่าตนเองสุขภาพดีหรือดีปานกลาง ส่วนร้อยละ 38.1 ประเมินว่าดีถึงดีมาก โดย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น และการได้ยิน จากการตรวจร่างกายพบว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 5 เป็นต้อกระจก โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครเป็นต้อกระจกสูงสุดร้อยละ 31.1 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 23 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำสุดร้อยละ 16.8 ขณะที่ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 มีปัญหาการได้ยินโดยผู้สูงอายุชายจะมีปัญหาการได้ยินสูงกว่าผู้สูงอายุหญิง

ในส่วนของการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่นการลุก นั่ง การขึ้นลงบันได การใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน การกินอาหาร ส่วนใหญ่ปฏิบัติเองได้ แต่มีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 22.6 ขณะที่ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การใช้โทรศัพท์ พบว่ามีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 46.7 เท่านั้น

พญ.ลัดดา กล่าวว่า สำหรับการสำรวจเรื่องสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 54.9 มี โรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกที่ผู้สูงอายุเป็นกันมากคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมา โรคของต่อมไร้ท่อ และโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ ตามลำดับ โดยในสองอันดับแรกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสาเหตุภายนอกที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือการพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 48.8 อุบัติเหตุอื่นๆ เช่นตกน้ำ ร้อยละ 13.2 และถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย หรือถูกสัตว์ทำร้าย ร้อยละ 9.4

“ผู้สูงอายุหกล้มง่ายกว่าวัยอื่น เนื่องจากภาวะความเสื่อมตามวัยของการมองเห็น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จากสถิติ ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่หกล้มมักพิการเรื้อรังหรือเสียชีวิตภายใน 1 ปี”พญ.ลัดดากล่าว

พญ.ลัดดา กล่าวว่า นอกจากนี้ใน ส่วนของการเข้ารับบริการทางสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุหญิงไปรับบริการมากกว่าผู้สูงอายุชาย โดยส่วนใหญ่ไปรับบริการเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวร้อยละ 53.7 รองลงมาเป็นอาการป่วย รู้สึกไม่สบาย ร้อยละ 44.6 และอุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ตามนอกจากการรับบริการสุขภาพเนื่องจากความเจ็บป่วยแล้ว มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งถือว่าต่ำมาก

ส่วนสาเหตุการเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้อยละ 90.1และได้รับอุบัติเหตุร้อยละ 9.9 โดยสถานพยาบาลที่ผู้สูงอายุเลือกเข้ารับบริการคือโรงพยาบาลศูนย์หรือโรง พยาบาลทั่วไปร้อยละ 45.7 เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง หรือประกันสังคม รองลงมาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 37.8 และโรงพยาบาลเอกชนหรือโพลีคลินิกร้อยละ 9

พญ.ลัดดา กล่าวว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพ เนื่อง จากระบบต่างๆในร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลงตามวัย ดังนั้นผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ งดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี หมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ เพราะเมื่อตรวจพบสิ่งผิดปกติเมื่อไรก็จะสามารถแก้ไขหรือรักษาได้แต่เนิ่นๆ ที่สำคัญควรลดความเครียดในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลินและมีคุณค่าทางจิตใจ เช่นปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ จะรู้สึกมีคุณค่าและไม่เหงา

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ดูแลเส้นผมสำหรับคนวัย 40 ปีขึ้นไปชะลอความแก่


เมื่ออายุก้าวย่างเข้าสู่เลข 4 ซึ่งเป็นวัยที่ความร่วงโรยมาเยือน คุณแม่บ้านที่รักสวยรักงามเป็นชีวิตจิตใจคงจะลำบากใจไม่น้อย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเส้นผมที่เริ่มหลุดร่วง ไม่แข็งแรง แถมยังสะท้อนถึงสุขภาพภายในอีกด้วย วันนี้ทีมงาน Life & Family จะขออาสานำความรู้การดูแลเส้นผมของวัย 40+ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ในงานเวิร์คช็อป "Looking Good สวยสั่งได้....สไตล์คุณ" ซึ่ง Rakluke Women ในเครือบริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด ร่วมกับผลิตภัณฑ์ชิเซโด้ จัดขึ้นเพื่อเอาใจเหล่าบรรดาคุณแม่ยังสาวและแนะนำเคล็ดลับการดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพดี งานนี้ได้ "เฉลิมผล พลรวมเงิน" ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม จาก Shiseido Professional กล่าวให้ความรู้ว่า ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ใส่ใจในเรื่องการดูแลเส้นผมเลย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ความเป็นจริงแล้วเส้นผมตัวถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของร่างกายทั้งในด้านของความสวยงามและการบ่งบอกถึงการมีสุขภาพที่ดี

"เส้นผมของคนเรามีทั้งหมด 3 ชั้นคือ 1.เกล็ดผม (Cuticle), 2.เนื้อผม (Cortex) และ3.แกนผม (Medulla) ประกอบด้วยโปรตีน เมลานิน เคราติน น้ำและน้ำมัน หากพบปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมแสดงว่าร่างกายกำลังขาดสารอาหารดังกล่าว วัยเลข 4 ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบปัญหาเรื่องเส้นผมเป็นอันดับต้นๆ และปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผมหงอกก่อนวัยอันควร เกิดจากพันธุ์กรรมหรือการทำงานผิดปกติของเมลาโนไซท์, ผมบาง เกิดจากการไม่ดูแลเอาใจใส่, ผมร่วง เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนและการควบคุมน้ำมันในร่างกาย นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องรังแคและอาการคันหนังศีรษะ เกิดจากการแยกตัวของไขมันหรือชั้นไขมันในเส้นผมเร็วกว่าปกติ มีเชื้อราและแบคทีเรียสะสม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ และส่งผลให้เกิดโรคเชื้อราเรื้อรังได้"

นอกจากนั้น บางคนนิยมทำสีผม เพื่อกลบเกลื่อนผมหงอก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมรายนี้บอกว่า ถึงแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีมากแค่ไหนให้การทำสีผม เพื่อลดปัญหาของผมหงอกก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะมันเป็นเรื่องของวัยด้วยและการทำสีผมไม่ได้ช่วยทำให้เส้นผมสุขภาพดีขึ้นเลย ตรงกันข้ามจะทำให้ผมเสียมากกว่าเดิม อีกทั้งยังทำให้มีสารเคมีตกค้างบนหนังศรีษะอีกด้วย

"การชะลอความหงอกและแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของเส้นผมสามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวันให้อยู่สภาวะปลอดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาของเส้นผม และควรดูแลเรื่องการรักษาความสะอาด โดยเน้นที่การสระผม อาจจะล้างผมนานกว่าปกติ นวดหนังศีรษะเพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออกไป และป้องกันการตกค้างของแชมพูและครีมนวด รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมให้เหมาะสมกับสภาพผมหรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ไข่ พืชตระกูลถั่ว พริกไทยดำ ฯลฯ หากไม่แน่ใจว่าสภาพผมต้องได้รับการบำรุงอย่างไร ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม อีกทั้งควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรมีการทำทรีเม้นท์บำรุงผมและมีการอบไอน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในกับเส้นผมเดือนละครั้ง" เฉลิมพล อธิบาย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมแนะแนวทางแก้ไขและดูแลสุขภาพเส้นผมที่ดีที่สุดว่า ควรดูแลเรื่องสภาพจิตใจให้แจ่มใจตลอดเวลา ไม่เครียด เพราะท้ายที่สุดถ้าสภาพจิตใจดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันจะออกมาจากร่างกาย ย่อมมีสุขภาพดีตามด้วย รวมถึงเส้นผมด้วย จิตใจดีเส้นผมก็มีสุขภาพดี มีน้ำหนัก ส่งผลให้สาววัย 40+ ทุกคน กลายมาเป็นคุณแม่ยังสาวอีกครั้ง อย่างไรก็ตามไม่เฉพาะผู้หญิงวัยเข้าเลข 4 เท่านั้นที่ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพผม ทุกๆ คนในครอบครัวก็เช่นกัน เพื่อสร้างสุขอนามัยให้กับตัวเองห่างไกลจากโรคภัย


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แย่จัง...คนยุคใหม่ทิ้งพ่อแม่ให้อยู่ตามลำพังมากขึ้น

วิจัยเผย คนยุคใหม่ทิ้งพ่อแม่ให้อยู่ตามลำพังมากขึ้น

นักวิจัยชี้ สังคมยุคใหม่ ผู้สูงอายุถูกทิ้งให้อยู่ลำพังมากขึ้น 7.6 % ขณะที่แนวโน้มอาศัยอยู่กับลูก ลดลงเหลือ 60.2 % จากเดิม ในปี 2537 อยู่ที่ 73.6% ชี้อีก 20 ปี ผู้สูงอายุพุ่งเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทย จี้รัฐถึงเวลาผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรวัยเด็กเริ่มลดจำนวนลงพอ ๆ กับประชากรวัยแรงงาน ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุกลับเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุสำคัญมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงมีบุตรเฉลี่ยจำนวนลดลง จาก 5.4 คน ในปี 2503 เหลือเพียง 1.85 คน ในปี 2553 ขณะที่อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 71.7 ปีในปัจจุบัน เป็น 76.4 ปี ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างดังกล่าวทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ เพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 11 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในปี 2573

“เมื่อก่อนเราเคยมีผู้สูงอายุไม่มาก หากเปรียบเทียบคนไทย 100 คน เราจะเจอเพียง 7 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 11 คน แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 25 คน หมายความว่าคนไทย 4 คน จะมีคนสูงอายุ 1 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก” ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว

ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น จากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2550 ผู้สูงอายุที่อยู่กับคู่สมรสลำพังมีร้อยละ 11.6 ในปี 2537 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.3 ในปี 2550 ขณะที่แนวโน้มที่น่ากังวลคือ สัดส่วนของผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่กับลูกลดลงตามลำดับ จากร้อยละ 73.6 ในปี 2537 เหลือ 65.7 ในปี 2545 และเหลือร้อยละ 60.2 ในปี 2550

“ผู้สูงอายุที่อยู่กันลำพังมากขึ้น อยู่ห่างจากครอบครัว ห่างจากลูก ทำให้การแสดงความรักความห่วงใยลดลง โอกาสใกล้ชิดกับคนในครอบครัวลดลง การแสดงความรักต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลเอาในใส่ รวมทั้งจากความสุขในการใช้ชีวิตบั้นปลายกับลูกหลานและญาติพี่น้อง”ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว

ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุที่พิการ ที่ต้องการการพึ่งพาในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ขณะที่รัฐบาลเองจะต้องมีการวางระบบบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวรองรับสังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า เพราะสังคมไทยเหลือเวลาน้อยมากในการปรับตัวกับโครงสร้างประชากรใหม่ ที่มีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มาก อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ ต่อไป

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์