วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใครไม่อยาก "กระดูกพรุน" ก่อนวัย โปรดอ่านทางนี้!

ใครไม่อยาก "กระดูกพรุน" ก่อนวัย โปรดอ่านทางนี้!

ใครไม่อยาก "กระดูกพรุน" ก่อนวัย โปรดอ่านทางนี้!

เป็นอีกหนึ่งเรื่องสุขภาพที่หลาย ๆ บ้านไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ "โรคกระดูกพรุน" ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว

ความน่าเป็นห่วงนี้ นพ.บุญวัฒน์ จะโนภาษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ คลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน แต่เมื่อเกิดการหักของกระดูก หรือกระดูกยุบตัวจากอุบัติเหตุจึงได้รู้ความจริง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาอาจทำได้ยากถึงแม้จะมีหลายวิธี แต่ก็ไม่หายขาดเหมือนเก่า โดยวิธีการรักษามีทั้งการรับยา การทานยาแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก การเข้าเฝือก การดามเหล็ก หรือการฉีดซีเมนต์เมื่อมีอาการกระดูกแตกหรือหักหรือยุบตัว

สำหรับบุคคลในบ้านที่มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว คุณหมอบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ทำงานโดยไม่ได้รับแสงแดด หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ และอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันกับคนที่รับประทานทานยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ และยารักษาไทรอยด์ อันเป็นยาที่เพิ่มการสลายแคลเซียม รวมทั้งโรคไต ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมเสียไป

"ผู้หญิงที่มีสิทธิ์เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย โดยมีข้อบ่งชี้ว่า จะต้องหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ถูกตัดรังไข่ 2 ข้างก่อนอายุ 45 ปี เกิดภาวะเอสโตรเจนต่ำก่อนหมดประจำเดือน มีภาวะเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก่อนอายุ 60 ปี ดังนั้นการป้องกันดีกว่าการรักษา เพื่อที่จะไม่เกิดเหตุการณ์กระดูกหักเอาง่าย ๆ ครับ" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้ออธิบายเสริม

ดังนั้น การป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรให้ความสำคัญ ซึ่งบางทีด้วยอายุ หรือปัจจัยอื่น ๆไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่สามารถเข้าไปปรับปรุงหรือลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อท่านนี้ให้คำแนะนำเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

1. ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว รวมถึงนมเป็นประจำ

2. ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อร่างกายเบา ๆ เช่น การวิ่ง ยกน้ำหนัก รำกระบอง อย่างน้อย 20 นาทีต่อวันและการออกกำลังกายที่ช่วยการทรงตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการล้ม

3. การโดนแสงแดดอ่อน ๆ มากกว่า 15 นาทีต่อวัน ช่วยให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้

4. เมื่อสงสัยว่าตัวเองหรือสมาชิกในบ้านมีภาวะกระดูกพรุน ควรป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม เช่นการจัดบ้านให้เรียบร้อย แสงสว่างพอเพียง ใช้พื้นที่ไม่ลื่น ระวังเรื่องน้ำที่หกบนพื้น มีราวจับช่วยการเดิน นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการมีสัตว์เลี้ยงและเด็ก ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยเช่นกัน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักในผู้สูงอายุ



ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท



"เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้เอ็กซเรย์ หรือการวัดความหนาแน่นของกระดูก (BMD) โดยทั่วไปให้ทำในหญิงอายุมากกว่า 65 ปีและชายมากกว่า 70 ปี นอกจากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งถ้าค่า BMD นี้น้อยกว่า -1 ถือว่ามีภาวะกระดูกบาง และถ้าต่ำกว่า -2.5 ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรทำการรักษาโดยการใช้ยาลดการทำลายและเพิ่มการสร้างของกระดูก" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อให้แนวทาง

ส่วนถ้าใคร หรือครอบครัวใดมีคนในบ้านเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้ด้วย ซึ่งยาเหล่านี้ คุณหมอบอกว่า ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในการดูแลของแพทย์ หากไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประสิทธิผลของยาในการลดการหักของกระดูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังมียาอีกชนิดหนึ่งเป็นยาชนิดฉีด เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ใช้ฉีดปีละ 1 ครั้งทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร หรือมีปัญหารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ และผู้ป่วยที่ลำบากในการเดินทางมาตรวจกับแพทย์

อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมแบบนี้ คุณหมอบอกว่า บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุ ควรระวังอุบัติเหตุที่อาจทำให้กระดูกหัก หรือแตกได้ง่าย

"ในช่วงภาวะน้ำท่วม ขณะนี้มีผู้สูงอายุ ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บางคนถึงกับเกิดกระดูกสันหลังยุบตัว เพราะไปช่วยคนในครอบครัว ยกของหนัก เพื่อหนีน้ำ นำของขึ้นที่สูง บางคนเดินไปสะดุดล้ม หรือลื่นหกล้ม ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคนไข้ที่กระดูกมือกระดูกเท้าหักและมีคนไข้ที่กระดูกหลังยุบ เนื่องจากไปช่วยลูกหลานของตัวเองยกของ ซึ่งภายในไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ

นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงผู้สูงอายุในขณะนี้ก็คือควรระมัดระวัง เรื่องของการดูแลเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบางทีเด็กเล็กมักจะเล่นกับคุณยาย คุณย่าแรงเกินไป หรือไปอุ้มผิดท่าผิดจังหวะ อาจทำให้บาดเจ็บ และเกิดอาการกระดูกสันหลังยุบตัว หรือข้อมือข้อเท้าหักได้ หรือบางครั้งผู้สูงอายุชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข เวลาจูงออกไปเดินเล่นอาจเกิดลื่นหรือหกล้ม ทำให้เกิดกระดูกหักได้" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อเผย

ดังนั้น เมื่อกระดูกซึ่งเป็นโครงสร้างของร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีความโปร่งบางและตัวเนื้อกระดูกก็ไม่แข็งแรงเท่าเดิม แม้สะดุดล้มเบา ๆ ก็อาจเกิดกระดูกหักได้โดยง่าย ทางที่ดีเราควรเรียนรู้ และรู้ทันภาวะกระดูกพรุนก่อนที่จะสายเกินไปกันดีกว่าครับ


ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148092