วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตามไปดูผู้สูงอายุไทย วันนี้ท่านป่วยด้วยโรคอะไรกัน

มส.ผส.เผยผู้สูงอายุไทยสุขภาพไม่ดี ส่วนใหญ่มีปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน 54.9 % มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ชี้ 3 โรคยอดฮิตของคนแก่ หัวใจและหลอดเลือด –ต่อมไร้ท่อ-ระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ระบุคนแก่ 45.7% เข้ารับบริการโรงพยาบาลบัตรทอง แต่มี 15% เท่านั้น ที่เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพ แนะวิธีดูแลตัวเอง กินอาหารมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอยุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เรื่องการประเมินสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ในปี 2552-2553 จำนวน 9,195 ราย พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 12.5 ประเมินว่าตัวเองสุขภาพไม่ดีหรือไม่ดีมาก ร้อยละ 48.4 ประเมินว่าตนเองสุขภาพดีหรือดีปานกลาง ส่วนร้อยละ 38.1 ประเมินว่าดีถึงดีมาก โดย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น และการได้ยิน จากการตรวจร่างกายพบว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 5 เป็นต้อกระจก โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครเป็นต้อกระจกสูงสุดร้อยละ 31.1 รองลงมาเป็นภาคใต้ร้อยละ 23 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำสุดร้อยละ 16.8 ขณะที่ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 มีปัญหาการได้ยินโดยผู้สูงอายุชายจะมีปัญหาการได้ยินสูงกว่าผู้สูงอายุหญิง

ในส่วนของการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่นการลุก นั่ง การขึ้นลงบันได การใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน การกินอาหาร ส่วนใหญ่ปฏิบัติเองได้ แต่มีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 22.6 ขณะที่ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การใช้โทรศัพท์ พบว่ามีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 46.7 เท่านั้น

พญ.ลัดดา กล่าวว่า สำหรับการสำรวจเรื่องสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 54.9 มี โรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกที่ผู้สูงอายุเป็นกันมากคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมา โรคของต่อมไร้ท่อ และโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ ตามลำดับ โดยในสองอันดับแรกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสาเหตุภายนอกที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือการพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 48.8 อุบัติเหตุอื่นๆ เช่นตกน้ำ ร้อยละ 13.2 และถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย หรือถูกสัตว์ทำร้าย ร้อยละ 9.4

“ผู้สูงอายุหกล้มง่ายกว่าวัยอื่น เนื่องจากภาวะความเสื่อมตามวัยของการมองเห็น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จากสถิติ ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่หกล้มมักพิการเรื้อรังหรือเสียชีวิตภายใน 1 ปี”พญ.ลัดดากล่าว

พญ.ลัดดา กล่าวว่า นอกจากนี้ใน ส่วนของการเข้ารับบริการทางสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุหญิงไปรับบริการมากกว่าผู้สูงอายุชาย โดยส่วนใหญ่ไปรับบริการเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวร้อยละ 53.7 รองลงมาเป็นอาการป่วย รู้สึกไม่สบาย ร้อยละ 44.6 และอุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ตามนอกจากการรับบริการสุขภาพเนื่องจากความเจ็บป่วยแล้ว มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งถือว่าต่ำมาก

ส่วนสาเหตุการเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้อยละ 90.1และได้รับอุบัติเหตุร้อยละ 9.9 โดยสถานพยาบาลที่ผู้สูงอายุเลือกเข้ารับบริการคือโรงพยาบาลศูนย์หรือโรง พยาบาลทั่วไปร้อยละ 45.7 เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง หรือประกันสังคม รองลงมาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 37.8 และโรงพยาบาลเอกชนหรือโพลีคลินิกร้อยละ 9

พญ.ลัดดา กล่าวว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพ เนื่อง จากระบบต่างๆในร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลงตามวัย ดังนั้นผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ งดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี หมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ เพราะเมื่อตรวจพบสิ่งผิดปกติเมื่อไรก็จะสามารถแก้ไขหรือรักษาได้แต่เนิ่นๆ ที่สำคัญควรลดความเครียดในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลินและมีคุณค่าทางจิตใจ เช่นปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ จะรู้สึกมีคุณค่าและไม่เหงา

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์