วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

"บริหารสมอง" ก่อนความจำเลือนหาย


"บริหารสมอง" ก่อนความจำเลือนหาย

เชื่อได้เลยว่า "อาการหลงๆ ลืมๆ" คงจะเคยเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ บางครั้งต้องการไปหยิบของบางอย่าง แต่พอเดินไปหาของกลับจำไม่ได้ว่าต้องการอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของความจำในระยะเวลาสั้น หรือบางคนทำงานจนเกิดอาการเบลอ ขี้ลืมจนกลายเป็นเรื่องปกติ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ จนเป็นนิสัยก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักพบอาการนี้ จนก่อให้เกิดเป็น "โรคความจำเสื่อม" ได้

กับเรื่องนี้ "นภาพร ฤทธิวีระกูล" หรือ "พี่หน่อย" หน่วย พัฒนาสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หลายคนคิดว่าโรคความจำเสื่อมเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถคุกคามการใช้ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมลง ถึงแม้ว่าตามธรรมชาติจะมีการพัฒนาสมองตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็ตาม แต่สมองของมนุษย์มีการทำงาน โดยแบ่งเป็น 2 ซีก ระหว่างซ้ายกับขวา เมื่อเราทำงานหรือทำกิจกรรมที่ออกแรงไปในข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย ก็อาจส่งผลให้มีบุคลิกภาพในการเคลื่อนไหวที่ไม่ดี รวมไปถึงเรื่องความคิด ความจำของสมองแต่ละซีกให้มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

อย่างที่ทราบกันดีว่า สมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านขวา ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านซ้าย ขณะเดียวกันสมองจะแบ่งการทำงานออกเป็นระบบความจำ ระบบของประสาทการรับความรู้สึก ระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย ระบบการมองเห็น ระบบการควบคุมด้านอารมณ์และภาวะของจิตใจ ดังนั้นการบริหารสมองจึงเป็นการเสริมสร้างระบบการทำงานให้ปรับความสมดุลของ ร่างกายทั้งสองด้าน หากไม่มีการบริหารสมองเราจะเกิดความเคยชินตามร่างกายด้านที่มีความถนัดด้าน ใดด้านหนึ่งเท่านั้น ทำให้สมองอีกซีกไม่มีการพัฒนา

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรมีการบริหารสมอง ส่วนใหญ่จะเป็นในผู้สูงอายุที่หลงๆ ลืมๆ ความ สามารถในการจำลดน้อยลง คือความจำในระยะเวลาสั้นๆ จะทำได้ดี แต่ความจำในระยะเวลาที่ยาวจะทำได้ไม่ดีมากนัก หรือบางคนอาจจำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งการบริหารสมองจะเป็นการกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองให้มีการเชื่อมโยงและ ถ่ายทอดข้อมูลแก่กันทั้งซีกซ้ายและซีกขวา เพราะปกติเซลล์สมองของแต่ละคนมีมากกว่า 1 ล้านเซลล์ แม้ว่าการบริหารสมองจะไม่ได้ช่วยให้เซลล์สมองทั้งหมดเกิดการทำงานที่มี ประสิทธิภาพได้ แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งระบบของสมอง ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ดีได้

ทั้งนี้ การเริ่มบริหารสมองตั้งแต่เด็กเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยชะลออาการหลง ลืมเมื่อเข้าสูวัยชรา หากมีการบริหารอย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและการทำงาน ของระบบต่างๆ ในร่างกายก็ดีขึ้นตาม พี่หน่อยบอกเคล็ดลับการบริหารสมองเพื่อให้สมองทั้งสองซีกทำงานไปพร้อมๆ กันว่า เริ่ม จากการกระตุ้นเซลล์สมองด้วยการดื่มน้ำสะอาด หรือค่อยๆ จิบทีละนิด หากร่างกายขาดน้ำจะทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของสมอง ส่งผลให้การบริหารสมองไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้การบริหารสมองไม่ควรทำในช่วงเวลาที่อิ่มหรือหิวเกินไป ขณะที่ทำการบริหารสมองต้องทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ควบคุมการหายใจ โดยให้การหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้น การทำงานของเซลล์สมอง ระบบการรับความรู้สึก โดยจะเลือกบริหารที่เป็นปุ่มของเซลล์สมองซึ่งจะอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณขมับ โดยใช้ปลายนิ้วมือกดเบาๆ ตรงขมับทั้ง 2 ข้าง จากนั้นนวดเป็นวงกลมประมาณ 1 นาที ซึ่งวิธีนี้จะกระตุ้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และอีกส่วนหนึ่งที่ควรบริหารอยู่บริเวณกระดูกไหปลาร้า ใช้วิธีการนวดเป็นวงกลมเหมือนกันแต่จะสลับข้างกัน โดยใช้มือซ้ายกดเบาๆ บริเวณปุ่มกระดูกไหปลาร้าด้านขวา ส่วนอีกมือจะวางไว้บริเวณหน้าท้อง จากนั้นก็ทำสลับข้างกันจนกว่าจะรู้สึกว่าผ่อนคลาย

ขั้นตอนที่ 2 เป็นการบริหารการเคลื่อนไหวร่างกายแบบสลับข้าง ด้วยการวิ่งที่ให้เท้ากับแขนเคลื่อนไหวสลับกัน เช่น ถ้าเริ่มก้าวเท้าขวา ดังนั้นแขนซ้ายก็จะแกว่งตาม หรืออาจบริหารแบบเบาๆ โดยการย่ำเท้าอยู่กับที่ประมาณ 2-3 นาที รวมถึงวิธีการบริหารสมองจากการนับเลขแบบสลับข้างด้วยการนับเลขที่มือ เช่น ถ้ามือข้างช้ายนับ 1 มือข้างขวาก็จะนับ 2 และก็ทำสลับกันไปเรื่อยๆ ตามต้องการ ทั้งนี้การบริการสมองแบบสลับจะช่วยให้กระบวนการทำงานของสมองจะเกิดการสมดุล

ขั้นตอนที่ 3 เป็นการคลายความตึงของเส้นประสาท โดยยืดส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ตึง เช่น การยืดแขน ยืดขา และการผ่อนคลายสมองด้วยการใช้นิ้วมือนวดเคาะตั้งแต่หน้าผากไปจนทั่วศีรษะ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี


อย่างไรก็ตาม พี่หน่อยแนะนำและฝากทิ้งท้ายว่า การ บริหารสมองสำหรับผู้สูงอายุควรเน้นเป็นท่าที่ง่ายๆ ไม่หักโหมร่างกายจนเกินไป ผู้สูงอายุที่มีโรคความดันสูงควรหลีกเลี่ยงการทำท่าที่ต้องก้มหรือลุกขึ้น ยืนเร็วๆ เพราะอาจจะทำให้หน้ามืดได้ ทางที่ดีหากไม่มั่นใจหรือผู้สูงอายุบางคนที่ทรงตัวได้ไม่ค่อยดีก็สามารถนั่ง ทำได้ การบริหารสมองควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวันและสามารถทำได้ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผุ้สูงอายุ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเด็กๆ มีการบริหารสมองร่วมกับคุณตาคุณยาย นอกจากจะช่วยให้สมองเกิดพัฒนาการ ยังช่วยให้ผู้สูงอายุในบ้านจดจำท่าในการบริหารสมองได้และช่วยให้ท่านมี สุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวอีกด้วย

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์