วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใส่ใจวัยทอง

มนุษย์ทุกคนย่อมมีช่วงอายุขัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวัยทารก สู่วัยเด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว วัยกลางคน และวัยสูงอายุ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เช่น วัยเด็กจะมีการพัฒนาของร่างกายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาการทางด้านจิตใจที่มีความอยากรู้อยากเห็น จนมาถึงในช่วงวัยรุ่นจะมีการพัฒนาร่างกายเพื่อเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่และยังมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ คือ อยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ มาความสนใจในเรื่องเพศตรงข้ามมากขึ้น เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่มากนักและทางด้านจิตใจก็มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อใช้ประกอบการงาน และยังเป็นช่วงที่ต้องการสร้างรากฐานให้แก่ชีวิต เมื่อถึงวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมาก เนื่องจากการใช้ชีวิตมาอย่างยาวนานทำให้อวัยวะบางอย่างมีการเสื่อมลง นอกจากด้านร่างกายแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่อาจมี เหตุผลมาจากการปรับตัวของฮอร์โมน บางทีเราอาจเรียกผู้สูงอายุในช่วงการปรับฮอร์โมนในร่างกายว่า "วัยทอง” โดยเฉพาะเพศหญิงซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าเพศชาย อาจทำให้คนวัยทองนั้นมีอารมณ์ที่ต่างออกไป บางทีมีจิตใจที่สงบขึ้นแต่บางคนอาจจะมีความน้อยใจและอารมณ์หงุดหงิดง่าย

วัยทองของสตรี นั้นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งโดยเฉลี่ย จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุประมาณ 48-50 ปี เป็นผลมาจากการที่รังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ ทำให้มีระดูถี่ขึ้นจากช่วงห่าง 28 วัน เป็นประมาณ21 วัน หรือมีระดูไม่สม่ำเสมอระยะเวลา ระหว่างรอบระดูจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไม่มีระดูอย่างถาวร เราเรียกช่วงนี้ว่าวัยใกล้หมดระดู (Perimenopause) หรือวัยเปลี่ยน (Climacteric)จะไม่มีการผลิตไข่หรือผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอีกต่อไป ผู้หญิงวัยทองจึงหมดฮอร์โมนที่จะผลิตจากรังไข่ คือฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนและการหมด ฮอร์โมนเพศหญิงนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกเป็น เวลา 4-5 ปี ก่อนที่จะหมดไปเลย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยหมดระดูสามารถแบ่งออกเป็น 2ระยะ ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดูช่วงต้น เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่
1. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Hot Flashes) มักมีอาการร้อนซู่ ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก จะเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3-5 นาที แล้วก็หายไป บางคนพบว่ามีเหงื่อออกมามากร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับตามมา
2. อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้งทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
3. อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
4. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจในตัวเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ
5. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง
6. การเปลี่ยนแปลงทางกล้ามเนื้อและข้อ พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง ปวดตามข้อ

การปลี่ยนแปลงในระยะยาว
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดความเสื่อมถอยของร่างกาย ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป ประมาณ 1ใน 3จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว โอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว
2. การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ในวัยหมดระดูจะมีไขมันโครเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

สำหรับผู้หญิงวัยทองบางคนอาจต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายเคยมี ซึ่งฮอร์โมนทดแทนจะแบ่งดังนี้
1.ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู แบ่งตามลักษณะการใช้ออกเป็นฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นของวัยหมดระดู
2.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลุก
3.ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจนแต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงของวัยหมดระดูได้ดี


วัยทองของบุรุษ
จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจาก การควบคุมฮอร์โมนเพศ จะเกิดขึ้นที่สมองที่เรียกว่า ต่อมไฮโปธารามัส (Hyppothalamus) เมื่อต่อมดังกล่าวตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนเพศมีไม่เพียงพอ ก็จะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังต่อมใต้สมองโดยอาศัยฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า (GnRH) เมื่อต่อมใต้สมองรับข้อมูลว่าฮอร์โมนเพศชายต่ำจากระดับของฮอร์โมน (GnRH) ต่อมใต้สมองก็จะปล่อยฮอร์โมนเหนี่ยวนำการตกไข่ (LH) และฮอร์โมน (FSH) ออกมาทุกๆ หนึ่งชั่วโมง ฮอร์โมน (FSH)จะกระตุ้นเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า Laydig Cells ในลูกอัณฑะเพื่อผลิตฮอร์โมนเพศชายให้เพิ่มขึ้นเมื่อมีระดับของฮอร์โมนเพศชายเพียงพอ ต่อมไฮโปรธารามัสจะหยุดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน GnRH ที่ไปยังต่อมใต้สมองกระบวนการนี้เรียกว่า ระบบส่งข้อมูลย้อนกลับ

วัยทองในผุ้ชายไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดว่าจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุเท่าไหร่ แต่จะเกิดเมื่อระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลง ซึ่งสภาพนี้เรียกว่า ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Hypogodism) มี 2 ระดับ คือ

1. ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำระดับปฐมภูมิ เกิดเมื่อLaydig Cells ในอัณฑะมีการสูญเสียความสามารถในการหลั่งฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่ต้น หรือเมื่อยังหนุ่ม
2. ภาวะการมีฮอร์โมนเพศชายต่ำระดับทุติยภูมิ เกิดเมื่อข้อมูลจากสมองไปต่อมใต้สมองไม่เพียงพอ หรือไม่มีความถี่พอที่จะกระตุ้น Laydig Cells ให้หลั่งฮอร์โมนเพศชาย

ถ้าระดับของฮอร์โมนเพศชายปกติแต่ยังประสบภาวะวัยทองสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยต้องมีอัตราส่วนของฮอร์โมนเพศชายต่อฮอร์โมนเพศหญิง 50:1 อัตราส่วน ดังกล่าวลดลงเป็น 20:1 หรือต่ำลงถึง 8:1 ซึ่งหมายความว่าฮอร์โมนเพศหญิงในผู้ชายจะสูงขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมน เพศหญิงในร่างกายของผู้หญิงจะป้องกันโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุน แต่สำหรับเพศชายฮอร์โมนเพศหญิงที่มี มากเกินไปในเพศชายจะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในผู้ชายให้มากขึ้น จำนวนที่เพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะมีผลกระทบสัมพัทธ์ต่อระดับฮอร์โมนเพศชายที่ปกติ สาเหตุที่ฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นในเพศชายเพราะ
1.ความอ้วน โรคอ้วนมีผลโดยตรงกับฮอร์โมนเพศหญิงที่มีมากเกินไปในอนุภาคของไขมันจะมี Aromatase (เอ็นไซนม์ที่จะเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายในร่างกายให้เป็นเพศหญิง) เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนอนุภาค
ไขมันจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำในทุกวัย เป็นสาเหตุให้เพิ่มการแปลสภาพของฮอร์โมนเพศชายไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
2.การขาดธาตุสังกะสี ที่เป็นตัวหยุดยั้งระดับ Aromatase ในร่างกาย ถ้าระดับสังกะสีมีไม่เพียงพอระดับของ Aromatase ก็จะสูงขึ้นธาตุสังกะสียังจำเป็นสำหรับระบบการทำงานปกติของต่อมใต้สมอง ถ้าไม่มีธาตุสังกะสีต่อมใต้สมอง
จะไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนที่เหนี่ยวนำการตกไข่และฮอร์โมนที่ทำให้ตกไข่ได้ ธาตุสังกะสีมีความสำคัญสำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศชาย ในขณะเดียวกันฮอร์โมนเพศชายก็จำเป็นต่อการรักษาระดับธาตุสังกะสีในเนื้อเยื่อร่างกายเช่นกัน
3.ระบบการทำงานของตับผิดปกติ หนึ่งในระบบการทำงานของตับ คือ ช่วยขับสารเคมี ฮอร์โมน ยา และของเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของร่างกาย ปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น การดื่มสุราจะช่วยลดการทำงานของตับ อายุที่มากขึ้นก็จะทำให้การทำงานของตับลดลงด้วย
4.ฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย ฮอร์โมนเพศชายสามารถอยู่อย่างอิสระหรือรวมกันกับโปรตีนในร่างกาย ฮอร์โมนเพศชายที่จับอยู่กับโปรตีน ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับฮอร์โมนที่ไม่จับโปรตีนในร่างกาย เรียกว่า ฮอร์โมนอิสระ ระดับปกติของฮอร์โมนเพศชายอยู่ระหว่าง 350.10000ng/dl จากระดับปกติร้อยละ 97.98 จะเป็นฮอร์โมนไม่อิสระจำนวนโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนในเลือดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ SHBG จะจับกับฮอร์โมนเพศชายทำให้ไม่สามารถไปออกฤทธิ์ส่งต่อให้ร่างกายได้ ทำให้ฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทในการสังเคราะห์โปรตีนส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานของร่างกาย

วิธีการปฏิบัติตนเมื่อเข้าสู่วัยทองทั้งชายและหญิง
1)ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
2)รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
3)ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4)ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
5)ปรึกษาแพทย์และใช้ฮอร์โมนทดแทนในกรณีที่จำเป็น

คนวัยทองจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากและยังรวมถึงสภาพจิตใจด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นความวิตกกังวลทำให้เกิดอาการเครียด เช่น ผู้หญิงบางคนอาจเกิดอาการวิตกกังวลในเรื่องของการเข้าสู่วัยทอง คนรอบข้างควรให้กำลังใจและเอาใจใส่ถึงอาการต่างๆ พร้อมทั้งให้ความเข้าใจในภาวะความเครียดที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีของผู้ชายก็ควรให้กำลังใจเพราะวัยทองในชายจะมีผลกระทบกับเรื่องทางเพศที่มีความเสื่อมถอยลง ทำให้ความมั่นใจในเพศชายลดน้อยลง อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ จึงต้องช่วยกันให้ความเข้าใจพร้อมทั้งให้คำปรึกษาในยามที่เกิดภาวะนั้นๆ เพื่อให้ผู้อยู่ในภาวะวัยทองสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และผ่านพ้นช่วงวัยทองได้อย่างปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ


ที่มา
http://www.thaipaipan.net/application3/nuke/modules.php?name=twdotnet&file=columns&op=detail&cid=403&row=51