วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

วิจัยพบ "วัยชรา" มีความสุขมากกว่าวัยทำงาน



ไม่แน่ว่าวัยชราอาจเป็นวัยที่หลายคนมีความสุขมากกว่าช่วงเด็ก หรือวัยทำงานไปเสียแล้ว ตราบเท่าที่คุณมีสามปัจจัยนี้อยู่กับตัว นั่นก็คือ มีสุขภาพดี มีรายได้พอสำหรับเลี้ยงตัว และมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะ ในวัยกลางคน หรือวัยรุ่น แม้คุณจะมีสามปัจจัยข้างต้นอยู่กับตัวก็ตาม แต่คุณจะถูกแรงกดดันจากสังคม จากหน้าที่การงาน จากเพื่อนฝูงให้เกิดความเครียดขึ้นได้ง่าย แต่กับผู้สูงอายุแล้ว หลาย ๆ คนยอมรับว่า แรงกดดันเหล่านั้นมีน้อยลงจนทำให้ชีวิตเป็นสุขมากขึ้นนั่นเอง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Lewis Wolpert ด้านชีววิทยาจาก University College London เจ้าของหนังสือ "You're Looking Very Well" กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

"สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในปัจจุบันก็คือ ความสุขในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคนนั้นน้อยลงกว่าในอดีต"

สอดคล้องกับการสำรวจเกี่ยวกับความสุขของประชากรจำนวน 341,000 คนของ The National Academy of Sciences สหรัฐอเมริกาที่พบว่า ในภาพรวม ความสุขในชีวิตของประชากรวัยกลางคนมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แต่จะมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในตอนอายุ 40 ปลาย ๆ ถึงต้น 50 ก่อนจะมีความสุขมากที่สุดอีกครั้งเมื่อตอนอายุ 85 ปี

นั่นเป็นเพราะยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร มนุษย์ยิ่งใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตนรัก และสนใจทำมากขึ้นเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เราไม่สนใจ ไม่ชอบ ก็ยิ่งถูกผลักให้ห่างออกไป

"คนที่ได้ชื่อว่า ร่ำรวยอย่างแท้จริงนั้นคือคนที่มีความเครียดในชีวิตต่ำ มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในระดับดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่อยู่เพียงลำพัง" ทั้งนี้ศาสตราจารย์ Wolpert ระบุว่า ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างคือปัจจัยหลักที่ทำให้ชีวิตในวัยชราอยู่อย่างมีความสุข

ด้านศาสตราจารย์ Andrew Steptoe ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันกล่าวว่า "ปัจจุบัน ผู้สูงอายุในวัย 60 - 70 ปี นั้นมีความแตกต่างจากผู้สูงอายุรุ่นเดียวกันเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบันมีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ มากกว่า และมีโอกาสดูแลสุขภาพมากกว่า อย่างไรก็ดี การมีสุขภาพดี และการมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องสำคัญมาก พอ ๆ กับการมีคนรัก หรือใครสักคนคอยดูแล"

"ในท้ายที่สุดแล้ว เพื่อนและครอบครัวของคุณคือสิ่งที่มีค่าที่สุด"

อาจเป็นการสำรวจโดยโลกตะวันตก ซึ่งการใช้ชีวิตมีความแตกต่างจากสังคมเอเชีย โดยเฉพาะสังคมไทย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีผลให้ผู้สูงอายุที่ได้ครอบครองมันในวัยชราได้อยู่มีความสุขขึ้นได้จริง ๆ และอาจมากกว่าความสุขในวัยทำงานจริง ๆ เสียด้วย

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000039757