วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรแก้ปวดข้อ

 
 
“เถาวัลย์เปรียง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Derris scandens (Roxb.) Benth.หรือที่รู้จักกันในชื่อท้องถิ่นว่า เครือเขาหนัง เถาตาปลา เครือตาปลา ย่านเหมาะ

พืชชนิดนี้จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แผ่นใบย่อยรูปไข่ ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ ช่อดอกยาว ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง สีขาวอมชมพูอ่อนหรือม่วงอ่อน ผลเป็นฝักแบนเล็ก เมล็ดรูปไตมีขนาดเล็ก

เถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่พบทั่วไปทุกภาค สรรพคุณทางยานั้นอยู่ที่เถาหรือลำต้น ซึ่งหมอแผนโบราณนิยมนำมาต้มให้คนไข้รับประทาน เพื่อแก้กระษัย เหน็บชา ทำให้เส้นเอ็นอ่อนลง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคบิด ไต แก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงกำลัง และยังนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอายุวัฒนะ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

เมื่อสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัย “เถาวัลย์เปรียง” ก็พบว่า สารสกัดจากลำต้นของเถาวัลย์เปรียงเป็นสารในกลุ่มไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และไอโซฟลาโวน กลัยโคไซด์ (Isoflavone glycoside) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะอาการอักเสบตามข้อ ช่วยลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง สามารถใช้แทนยาแก้อักเสบประเภทสเตียรอยด์ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน เพื่อรักษาโรคปวดหลังและปวดตามข้อได้

โดยใช้เวลาทำการทดลองนานเกือบ 10 ปี และได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกในคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งระยะที่ 1 และ 2 โดยให้ยาแก่อาสาสมัครครั้งละ 1 แคปซูล (200 มก./ แคปซูล) หลังอาหารวันละ 2 ครั้ง นาน 2 เดือน ร่างกายสามารถดูดซึมยานี้ได้ดี ให้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีความเป็นพิษหรือผลข้างเคียง ทั้งยังช่วยควบคุมและเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบสรรพคุณในอาสาสมัครโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาต้านอักเสบ Naproxen และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียง พบว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิผลในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดี และมีแนวโน้มว่าปลอดภัยกว่ายา Naproxen เพราะพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา Naproxen มีอาการหิวบ่อย แสบท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่มีอาการข้างเคียงดังกล่าว

ปัจจุบัน ได้มีการผลิตยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงออกจำหน่ายทั้งในรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย เก้า มกรา)