วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

เคล็ดลับการดูแลผิว ก่อนเข้าวัยทอง

เคล็ดลับการดูแลผิว ก่อนเข้าวัยทอง

เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผิวพรรณที่เคยสดใสเต่งตึง จะเริ่มเสื่อมสภาพไป โดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน การดูแลผิวพรรณอย่างถูกวิธีจะช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิว และทำให้ผิวพรรณคงความงามต่อไป แม้ว่าอายุจะมากขึ้นก็ตาม


ทั้งหญิงและชายควรเริ่มใส่ใจดูแลผิวพรรณตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพื่อให้เซลล์ผิวแข็งแรงมาแต่เดิม จะดีกว่าเพิ่งมาดูแลเมื่ออยู่ในช่วงวัยทอง หรือกันไว้ดีกว่าแก้นั่นเอง


โครงสร้างของผิวหนัง


ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นที่อยู่นอกสุด ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ และป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย


เมื่อเข้าสู่วัยทอง ชั้นหนังกำพร้าจะเริ่มบางลง ผิวหนังถลอก ติดเชื้ออักเสบ เกิดอาการแพ้เป็นผื่นได้ง่าย ในบางราย เซลล์เนื้อเยื่ออาจเกิดการแบ่งตัวผิดปกติ กลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งผิวหนังได้


ชั้นหนังแท้ ประกอบไปด้วยเส้นใยที่ประสานกัน เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ มีต่อมเหงื่อทำหน้าที่สร้างและขับน้ำออกจากร่างกายเพื่อปรับอุณหภูมิ และต่อมไขมันทำหน้าที่ขับไขมันออกมาปกป้องผิว นอกจากนี้ยังมีปลายเส้นประสาทและปลายของหลอดเลือดแดงและท่อน้ำเหลืองอยู่ภายในชั้นหนังแท้ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเซลล์ผิวหนัง


เมื่อเข้าสู่วัยทอง ชั้นหนังแท้จะบางลงเช่นกัน โดยเฉพาะในหญิงวัยทอง เส้นใยที่ประสานกันอยู่จะขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวหนังเกิดรอยเหี่ยวย่น ต่อมเหงื่อจะมีจำนวนลดลงและเสื่อมประสิทธิภาพ จึงขับเหงื่อออกจากร่างกายได้น้อย ทำให้ทนต่ออากาศร้อนได้น้อยลง ต่อมไขมันก็ทำงานน้อยลง ผิวหนังจึงแห้งและเป็นขุยได้ง่าย ส่วนปลายประสาทรับความรู้สึกก็จะทำงานลดลงเช่นกัน


ชั้นไขมัน ทำหน้าที่ช่วยลดการกระแทกและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผิวหนังชั้นไขมันในตำแหน่งต่างๆ จะหนาบางไม่เท่ากัน ไขมันบริเวณเอว สะโพก ช่วงขา และใต้คาง จะหนาขึ้น ในขณะที่ไขมันบริเวณวงแขนและส้นเท้าจะบางลง


นอกจากสภาพผิวพรรณที่เปลี่ยนแปลงไปในวัยทองแล้ว เส้นผมและขนก็จะลดจำนวนลงและมีขนาดบางลง ทำให้ผมบาง ยิ่งกว่านั้นยังเกิดผมหงอกเนื่องจากเซลล์เม็ดสีเสื่อมสภาพไป นอกจากนี้ เล็บก็ยังเปราะบางและหักได้ง่าย


อย่างไรก็ตาม การเสื่อมสภาพตามวัยดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ผิวพรรณเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ถึงประมาณ 70% เกิดจากสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะค่อยๆ ทำลายผิวพรรณทีละเล็กทีละน้อย ทำให้ผิวหนังขาดความยืดหยุ่นและเกิดรอยเหี่ยวย่น เมื่อถูกแสงแดดเป็นเวลานานๆ จะทำให้ผิวหนังหนาและหยาบกระด้าง มีจุดด่างดำตามบริเวณที่ถูกแสงแดด หรืออาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้


นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดริ้วรอยบนผิวหนัง ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่างๆ มลภาวะสารเคมี ความร้อน ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้าในท่าซ้ำๆ แม้แต่การนอนในท่าเดิมซ้ำๆ เช่น นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ ก็ทำให้เกิดริ้วรอยจากการนอนทับขึ้นได้

ที่มา
http://i-puk.com/beauty/wrinkle-4.php